ยุคปัจจุบันคนไทยหันมาใส่ใจสุขภาพเพิ่มมากขึ้น บางคนเข้าใจผิดว่าข้าวทำให้อ้วนจึงลดปริมาณการบริโภคข้าว ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ข้าวไม่ได้ทำให้อ้วน แต่กับข้าวที่มีไขมันสูงต่างหากที่ทำให้อ้วน เพราะอย่างไรก็ตามร่างกายต้องการคาร์โบไฮเดรตเพื่อให้พลังงาน หากเราลดหรือเลิกรับประทานข้าว อาจจะทำให้อ้วนกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะต้องไปรับประทานกับข้าวมากขึ้นกว่าเดิม หรือหากเลือกจะรับประทานอาหารพวกขนมปัง หรืออาหารแป้งอื่นๆ แทน ก็จะมีประโยชน์ต่อร่างกายน้อยกว่าการรับประทานข้าว ที่สำคัญข้าวเป็นอาหารที่ทานแล้วไม่ทำให้มีอาการแพ้ เนื่องจากข้าวไทยไม่มีสารกลูเตน (Gluten) ที่พบได้ในข้าวสาลี ข้าวไรย์ หรือข้าวบาร์เลย์ที่เป็นส่วนประกอบของขนมปัง หรืออาหารแป้งบางชนิด ข้าวไทยยังมีสารอาหารที่หลากหลาย ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและโรคมะเร็ง
คุณค่าสารอาหารในข้าวไทย
ข้าวไทย คือ สุดยอดธัญญาหารที่เปี่ยมไปด้วยคุณประโยชน์และคุณค่าทางโภชนาการ อุดมด้วยสารอาหาร วิตามิน และเเร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายมากมาย เช่น คาร์โบไฮเดรต โปรตีน วิตามิน ตลอดจนสรรพคุณทางโภชนบำบัด อันเป็นที่ทราบกันดีในหมู่ชาวไทยและชาวตะวันออกผู้บริโภคข้าวเป็นอาหารหลักมาช้านาน และปัจจุบันได้เริ่มเเพร่หลายสู่การรับรู้ของชาวโลก พร้อมไปกับวิถีการบริโภคสมัยใหม่ที่ใส่ใจในสุขภาพ
คุณค่าทางโภชนาการของข้าว
ข้าว ประกอบด้วยสารอาหารต่าง ๆ มากมายที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
คาร์โบไฮเดรต ข้าวทุกชนิดมีคาร์โบไฮเดรตเป็นส่วนประกอบร้อยละ 70-80 ซึ่งเป็นแป้งเกือบทั้งหมด มีน้ำตาลซูโครส (sucrose) และน้ำตาลเดกซ์ทริน (dextrin) เล็กน้อย
โปรตีน มีโปรตีนไม่มาก อยู่ระหว่างร้อยละ 7-8 ในข้าวเจ้า และร้อยละ 11-12 ในข้าวสาลี
ไขมัน ในข้าวกล้องมีปริมาณไขมันสูงกว่าข้าวชนิดอื่นๆ เพราะข้าวกล้องยังมีส่วนของรำข้าวอยู่ แต่เมื่อเทียบกับอาหารชนิดอื่น ๆ แล้ว ข้าวไม่ใช่แหล่งที่อุดมด้วยสารอาหารจำพวกไขมัน
ใยอาหาร ข้าวกล้องและให้ใยอาหารสูงกว่าข้าวขาว โดยทั่วไปข้าวกล้องจะมีสีน้ำตาลอ่อน คนไทยสมัยก่อนใช้วิธีซ้อมหรือตำด้วยมือ จึงเรียกว่า “ข้าวซ้อมมือ” เป็นข้าวกล้องอย่างหนึ่ง มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง มีใยอาหาร ไขมันและวิตามินบี 1 มากกว่าข้าวชนิดอื่น
วิตามินและแร่ธาตุ ในข้าวกล้องจะมีวิตามินและแร่ธาตุสูงกว่าข้าวขาว ที่เห็นได้ชัดคือ ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุแมกนีเซียม ไนอาซิน และวิตามินบี 1
ข้าวไทย...ไร้กลูเตน
กลูเตนเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในข้าวสาลี ข้าวบาร์เล่ย์ ข้าวไรย์ และข้าวโอ๊ค ซึ่งพบมากในผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแป้งข้าวสาลี เช่น เบเกอรี่ พาย เค้ก เนื่องจากประชากรในประเทศตะวันตกเป็นจำนวนมากประสบปัญหาเป็นโรคแพ้กลูเตน โดยเเม้รับประทานเพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้เกิดลำไส้อักเสบ ท้องอืด ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน มีอาการชาตามแขนและขา ทั้งนี้ข้าวไทยยังนับเป็นธัญพืชที่ปราศจากสารกลูเตน (Gluten Free) จึงเป็นเมนูทางเลือกสำหรับผู้ที่เเพ้สารดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
ข้าวกล้องสารอาหารเต็มเมล็ด
ข้าวกล้อง (Rice Brown) คือข้าวที่กะเทาะเอาเปลือกนอกออกเพียงชั้นเดียว จึงมีสีเหลืองอมน้ำตาลอ่อนๆเเละมีเมล็ดเต็มสมบูรณ์ ที่สำคัญยังคงไว้ซึ่งคุณค่าทางอาหารสูงกว่าข้าวที่ผ่านการขัดสี เพราะคุณค่าทางอาหารจากข้าวส่วนใหญ่อัดแน่นอยู่ภายในเล็กๆ ของเมล็ดข้าวที่เรียกว่า "จมูกข้าว" รวมถึง "เยื่อหุ้มเมล็ดข้าว" ข้อมูลจากการวิจัยพบว่าเมล็ดข้าวกล้องมีสารอาหารสำคัญมากกว่า 15 ชนิด เเต่เมื่อข้าวถูกขัดสีออกไปจนกลายเป็นข้าวสารสีขาว ซึ่งมีบางส่วนกะเทาะหลุดออกไป ทำให้ธาตุอาหารสำคัญเหล่านั้นลดน้อยลงไปด้วย การรับประทานข้าวกล้องจึงมีคุณค่าเต็มเมล็ด เหมาะสำหรับผู้รักสุขภาพ
ข้าวกล้องมีสารอาหารครบทุกชนิด องค์ประกอบหลักคือ คาร์โบไฮเดรต เช่นเดียวกับข้าวชนิดอื่น ๆ (ดังตาราง) เมื่อเปรียบเทียบข้าวกล้องกับข้าวขาว พบว่า ข้าวกล้องมีใยอาหารสูงกว่าถึง 3 เท่า ส่วนข้าวขาวนั้นมีการสูญเสียสารอาหารที่มีประโยชน์คือโปรตีน ไขมัน ใยอาหารไประหว่างการขัดสี เหลือแต่คาร์โบไฮเดรตเป็นส่วนใหญ่ การขัดสียังทำให้สูญเสียวิตามินและเกลือแร่อีกด้วย
ข้าวหลากสี...คุณประโยชน์หลากหลาย
image : www.thinkricethinkthailand.com
ข้าวไทยมีมากมายหลากหลายพันธุ์และยังมีสีสัน ทั้งสีดำหรือสีม่วงเข้ม สีแดง สีทับทิม สีเหลืองทอง สีน้ำตาลและสีขาว สีสันของข้าวให้คุณประโยชน์ที่แตกต่างกันออกไป แต่แท้จริงแล้วภายใต้สีสันหลากหลายของข้าวไทยนั้นอุดมไปด้วยคุณค่าสารอาหารมากมายเช่น โพลีฟีนอล แอนโทไซยานิน วิตามินอี ลูทีน เบต้าแคโรทีน แกมมาออไรซานอล สารอาหารเหล่านี้มีคุณสมบัติโดยตรงในการต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งและโรคต่าง ๆ หลายชนิดเช่น มะเร็ง หลอดเลือดหัวใจอุดตัน ต้อกระจก ข้ออักเสบ เป็นต้น การรับประทานข้าวให้หลากสีหลากสายพันธุ์เป็นประจำมีส่วนช่วยป้องกันโรค โดยเฉพาะข้าวพื้นเมืองของไทยที่มีสีเข้มซึ่งมีปริมาณต้านอนุมุลอิสระสูง ได้แก่ ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวก่ำ ข้าวหอมมะลิดำ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ เป็นต้น อาทิ
ข้าวหอมแดง อุดมด้วยสารแอนติออกซิแดนท์ที่ช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและโรคมะเร็ง และยังเป็นข้าวที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ ช่วยลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน อีกทั้งยังมีธาตุเหล็ก วิตามินบี 6 และไฟเบอร์สูงช่วยลดระดับคลอเลสเตอรอล ความเสี่ยงโรคสมองเสื่อม และโรคโลหิตจาง
ข้าวไรซ์เบอร์รี่ มีวิตามินอี และสารแกมมา-ออริซานอลสูงที่ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง ช่วยลดระดับคลอเลสเตอรอลและความเสี่ยงโรคโลหิตจาง อีกทั้งยังมีไฟเบอร์สูงช่วยลดดัชนีน้ำตาลที่เป็นตัวสำคัญในการลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน และมีธาตุเหล็กพร้อมทั้งวิตามินบีที่ช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจ และสมองเสื่อมอีกด้วย
Source :
Commenti