จากนโยบาย THAILAND 4.0 ที่มุ่งปรับเปลี่ยนเกษตรแบบดั้งเดิมสู่เกษตรอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับสินค้าเกษตรผ่านอัตลักษณ์ท้องถิ่น โดยใช้แนวคิด “ตลาดและนวัตกรรมนำการผลิต” สร้างความโดดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์ให้มีลักษณะเฉพาะตัว รองรับความต้องการของผู้บริโภคในกลุ่มตลาดเฉพาะ หรือ Niche Market เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง
กระทรวงอุตสาหกรรมจึงส่งเสริมเกษตรกรที่ทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดร้อยเอ็ด แหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดของประเทศกับเอกลักษณ์ความหอมเฉพาะตัว ให้รวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมอย่างครบวงจรทั้งแนวตั้งและแนวนอนขึ้น เป็นคลัสเตอร์ข้าวอินทรีย์ร้อยเอ็ด ความสำเร็จของคลัสเตอร์เกิดจากการเชื่อมโยงกันตั้งแต่ ต้นนำ้ กลางนำ้ และปลายน้ำอย่างครบวงจร
ต้นน้ำที่ดีเริ่มจากเกษตรปลูกข้าวอินทรีย์ที่ได้คุณภาพตามมาตรฐานสากลเพื่อให้ผลผลิตเป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ข้าวเปลือกคุณภาพจากเกษตร ก่อนเข้าสู่กระบวนการกลางน้ำแปรรูปโดยมีมาตรฐาน GMP เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ผลผลิตที่ได้คือ ข้าวสารอินทรีย์ และวัตถุดิบเหลือใช้ เช่นข้าวหัก ปลายข้าว จมูกข้าว รำข้าว แกลบ และใบข้าว ซึ่งได้นำมาต่อยอด แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นานาชนิด สร้างรายได้ให้กับสมาชิกกลุ่มคลัสเตอร์ เพิ่มขึ้น
กระทรวงอุตสาหกรรม หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ให้การสนับสนุน องค์ความรู้ และส่งเสริมให้มีการต่อยอดนวัตกรรมผ่านศูนย์ปฎิรูปอุตสาหกรรม 4.0 พร้อมทั้งสนุนเงินทุนผ่านสินเชื่อ กองทุนพัฒนา SME ตามแนวทางประชารัฐ
และสุดท้าย อุตสาหกรรมปลายน้ำเรื่องการตลาด สร้างโอกาสให้กลุ่ม คลัสเตอร์ส่งออกข้าวและผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น น้ำมันรำข้าว เครื่องดื่มจากจมูกข้าว ไวน์ข้าว แป้งข้าว เป็นต้นไปยังกลุ่มประเทศต่างๆ
“ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จของคลัสเตอร์ข้าวอินทรีย์ร้อยเอ็ดจะมีอยู่ 2 ปัจจัยหลัก การแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มและกระบวนการ Zero Waste กำจัดของเสียให้เหลือศูนย์ เราแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มในผลิตภัณฑ์ทุกตัว เมื่อของเสียเหลือน้อย สร้างมูลค่าได้หมด เราก็มีรายได้เยอะ เราก็ประสบความสำเร็จ สร้างความมั่นคงในอาชีพ สร้างรายได้ให้กับสมาชิกของเราเป็นอย่างดี” ดร.รณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์อีสาน และประธานผู้บริหารบริษัท กฤษณกรณ์ ออร์กานิคฟาร์ม จำกัด กล่าว
วันนี้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 25% ผ่านการรวมตัวเป็นคลัสเตอร์ที่ปัจจุบันมีสมาชิกกว่ามากกว่า 3,400 ครอบครัว พื้นที่มากกว่า 90,000 ไร่ และมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ จากต้นนำ้สู่ปลายน้ำสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้
เกษตรอุตสาหกรรม มุ่งสร้างมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรเพื่อเป้าหมายสูงสุดในการยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ที่เป็นฐานรากของประเทศ ให้เข้าสู่ Thailand 4.0
Source : Thailand 4.0 เกษตรอุตสาหกรรม,กระทรวงอุตสาหกรรม
留言